Welcome

ยินดีต้อนรับสู่บล็อก..ลูกเสือ นามนพิทยาคม โดย ครูเทวัญ ภูพานทอง

การลูกเสือโลก

การลูกเสือโลก


องค์การลูกเสือโลก        ปัจจุบัน  การลูกเสือได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งมีสมาชิกกว่า 30 ล้านคน ใน 161 ประเทศ และเขตปกครอง อาณานิคมแคว้นต่างๆ ทั่วโลก  มีองค์การลูกเสือโลก (World Organization of the Scout Movement)  โดยสำนักงานลูกเสือโลก (World Scout Bureau) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการฯ  ผู้ดูแลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกให้พัฒนาไปตามกรอบนโยบายและแนวทางของ องค์การลูกเสือโลก  และตามมติของที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลก (World Scout Conference) ซึ่งจัดให้มีขึ้นในทุก ๆ 4 ปี 
นอกจากสำนักงานลูกเสือโลก (World Scout Bureau) กรุงเจนีวา แล้วยังมีสำนักงานลูกเสือภาคพื้นอยู่ในภูมิภาคทั่วโลก อีก 6 แห่ง ได้แก่
  1. ภาคพื้นยุโรป (Europe)   - มีประเทศสมาชิก 41  ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และกรุงบร้สเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
  2. ภาคพื้น ยูเรเชีย (Eurasia)  - มีประเทศสมาชิก  9 ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐยูเครน  และสำนักงานสาขา ที่กรุงมอสโคว์  ประเทศรัสเซีย
  3. ภาคพื้นอินเตอร์อเมริกา (Interamerica)  -  มีประเทศสมาชิก  32    ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงซานติเอโก ประเทศชิลี
  4.  ภาคพื้นอาหรับ (Arab)  -  มีประเทศสมาชิก  18  ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
  5.  ภาคพื้นอาฟริกา (Africa) -  มีประเทศสมาชิก 37  ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไนโรบี  ประเทศเคนยา
          - สำนักงานสาขา 1.  ตั้งอยู่ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล
          - สำนักงานสาขา 2.  ตั้งอยู่ที่ กรุงเคปทาวน์  ประเทศอาฟริกาใต้
  6. ภาคพื้น เอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific) -  มีประเทศสมาชิก 24 ประเทศ
        สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมนิลา  ประเทศฟิลิปปินส์
วัตถุประสงค์ หลักการสำคัญ และวิธีการของลูกเสือ
          การลูกเสือ เป็นขบวนการทางการศึกษาสำหรับเยาวชน ที่มีวัตถุประสงค์จะสร้างบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางสังคมให้กับเยาวชนเพื่อให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ โดยใช้วิธีการของลูกเสือ ยึดมั่นในกฎและคำปฏิญาณ (Scout Promise and Laws)  การเรียนรู้โดยการกระทำ (Learning by Doing) เน้นการปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้ง  (Outdoor Activities)  การใช้ระบบหมู่  (Patrol System)  และความก้าวหน้าของบุคคล โดยใช้หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ (Proficiency Badges)           การลูกเสือ เป็นการอาสาสมัครทำงานให้การศึกษาพัฒนาเยาวชนโดยทั่วไป ไม่มีการแบ่งแยกกีดกันในเรื่องเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ลัทธิทางศาสนาใดๆ และไม่อยู่ภายใต้อิทธิพล หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยยึดปฏิบัติตามอุดมการณ์ของผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกอย่างมั่นคง  วงการศึกษาทั่วโลกถือว่าการลูกเสือ เป็นขบวนการที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนนอกระบบโรงเรียน  (Non-formal Education Movement) ภายใต้พื้นฐาน ดังนี้
             1. มีหน้าที่ต่อศาสนาที่ตนเคารพนับถือ
             2. มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง
             3. มีความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง
             4. เข้าร่วมในการพัฒนาสังคมด้วยการยกย่องและเคารพในเกียรติของบุคคลอื่น
             5. ช่วยเสริมสร้างสันติภาพความเข้าใจอันดี เพื่อความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก
พันธกิจหลัก        ปัจจุบัน พันธกิจหลักของการลูกเสือในการฝึกอบรมเยาวชนผ่านกระบวนการลูกเสือ มี  3  ประการ คือ
            1.ให้เด็กได้เป็นลูกเสือแต่เยาว์วัย - โดยจัดในรูปกิจกรรมอาสาสมัคร หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร
            2.ใช้วิธีการฝึกลูกเสือในการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์  4 ประการ คือ
                      2.1) เป็นผู้ที่เชื่อถือได้
                      2.2) สามารถพึ่งตนเองได้
                      2.3) มีความรับผิดชอบ
                      2.4) กล้าสู้งานหนัก
            3.ต้องพัฒนาระบบการฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพ ในการขัดเกลาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชนโดยใช้กฎลูกเสือเป็นหลัก
จากพันธกิจหลัก (Mission) ทั้ง 3 ประการนี้ นำไปสู่ยุทธศาสตร์หลัก (Strategy) ที่ใช้ในการพัฒนาการลูกเสือให้ตอบสนองสอดคล้องกับพันธกิจ
ยุทธศาสตร์       1. ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจ
       2. ให้ผู้ใหญ่เข้ามาให้การสนับสนุนกิจกรรมลูกเสือ
       3. ฝึกอบรมลูกเสือชาย-หญิงอย่างเสมอภาค  ให้เกิดความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
       4. ให้ทุ่มเทงานหนัก 
       5. ใช้ระบบอาสาสมัคร
       6. องค์กรลูกเสือต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์                            
       7. ปรับระบบลูกเสือให้เข้มแข็ง
       8. ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำงานทันสมัย ทันคน ทันเหตุการณ์
       9. ส่งเสริมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อรายงานความก้าวหน้าให้สังคมรับรู้
      10. สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในองค์กรลูกเสือ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
      11. สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรเยาวชนอื่น ๆ
      12. สนับสนุนให้มีประเทศสมาชิกใหม่ เข้าร่วมองค์การลูกเสือโลก และส่งเสริมการเพิ่มจำนวนสมาชิกลูกเสือในประเทศ
      13. จัดตั้งกองทุนเพื่อหาเงินสนับสนุนกิจการลูกเสืออย่างเป็นระบบและมั่นคง

ที่มา : http://www.scoutthailand.org